รู้ทันโรคเบาหวาน มีกี่ชนิด เป็นแล้วดูแลตนเองอย่างไรการกินของอร่อยมันดีต่อใจก็จริง แต่ถ้ากินมากเกินไปก็อาจนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงในภายหลังได้ โดยเฉพาะโรคเบาหวานซึ่งเป็นโรคที่มักเกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญ
นอกจากนี้โรคเบาหวานยังสร้างผลกระทบต่อหลายระบบของร่างกาย ไม่ใช่แค่ปัญหาน้ำตาลในเลือดที่ต่ำหรือสูงเกินอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่โรคนี้สามารถลุกลามรุนแรงจนถึงขั้นทำให้หลายคนสูญเสียอวัยวะสำคัญไปจากร่างกายได้ เช่น แขน ขา หรือเท้า
โรคเบาหวานคืออะไร?
โรคเบาหวาน (Diabetes) หมายถึงโรคที่มีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สมดุล และส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการทางกายภาพหรือโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง
โดยปกติร่างกายของเราจะมีอวัยวะตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ที่คอยทำหน้าที่นำส่งน้ำตาลที่เรากินเข้าไปแปลงเป็นพลังงานให้กับร่างกายและนำไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ
แต่เมื่อใดก็ตามที่ฮอร์โมนอินซูลินทำงานบกพร่อง หรืออวัยวะในร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินน้อยเกินไป ก็จะเกิดปริมาณน้ำตาลคงเหลืออยู่ในกระแสเลือดมากเกินจำเป็น และนำไปสู่การเกิดอาการผิดปกติต่างๆ แสดงออกมา
เช็กราคาตรวจเบาหวาน
อาการของโรคเบาหวาน
อาการแสดงของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สังเกตเห็นได้ชัด ได้แก่
อ่อนเพลียง่าย
หิวบ่อย
กระหายน้ำบ่อย
แม้มีพฤติกรรมกินจุ แต่น้ำหนักกลับลดลง
การมองเห็นพร่าเบลอ
มักชาตามปลายมือและเท้า
เมื่อเกิดบาดแผลตามร่างกาย แผลจะหายช้ากว่าคนทั่วไป
ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืน
โรคเบาหวานมีกี่ชนิด?
โรคเบาหวานสามารถจำแนกได้ 3 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแตกต่างกัน ได้แก่
1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) มีสาเหตุหลักมาจากความผิดปกติของร่างกายมากกว่ามาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
โดยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ไปทำลายเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินซึ่งทำหน้าที่นำส่งน้ำตาลไปเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆ และเผาผลาญเป็นพลังงาน จึงทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และส่งผลให้ร่างกายมีน้ำตาลสะสมมาเกินจำเป็น
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายไปทำลายเซลล์ของตับอ่อนจนทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า มีโอกาสที่จะเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ หรือเชื้อไวรัสบางชนิด ที่ไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันร่างกายเกิดความปกติขึ้น
ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ยังมีลักษณะอาการแสดงของโรคที่ค่อนข้างชัดและเร็วกว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็ก
2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) ถือเป็นโรคเบาหวานที่พบได้มากที่สุด โดยสามารถเกิดได้ทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ได้แก่
มีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดที่เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน
กินอาหารที่มีไขมัน แป้ง หรือน้ำตาลสูงเกินไป
ไม่ออกกำลังกาย
ไม่ค่อยทำกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกาย
มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือมีภาวะอ้วน
3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เป็นชนิดของโรคเบาหวานที่ได้รับผลกระทบมาจากการตั้งครรภ์โดยเฉพาะ
เนื่องจากร่างกายของผู้หญิงเมื่อเกิดการตั้งครรภ์จะมีการผลิตฮอร์โมน HPL (Human Placental Lactogen) ซึ่งต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินขึ้นมา ร่วมกับกลไกของร่างกายที่ต้องการกักเก็บน้ำตาลบางส่วนไว้เลี้ยงทารกในครรภ์ จึงส่งผลให้ร่างกายของหญิงมีครรภ์มีปริมาณน้ำตาลสะสมสูงกว่ากลุ่มคนทั่วไป และทำให้เกิดเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตามคุณแม่หลายคนสามารถหายจากโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หลังคลอดบุตรได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อยู่ในอนาคต
โรคเบาหวานเกิดจากอะไรได้อีก?
นอกจากปัจจัยการตั้งครรภ์ การไม่ออกกำลังกาย ติดกินอาหารรสหวานหรือมีไขมันสูงเกินไป หรือพันธุกรรมของคนในครอบครัว ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถส่งผลทำให้เกิดโรคเบาหวานได้อีก เช่น
โรคคุชชิง (Cushing’s Syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มากเกินไป ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้หากมีปริมาณมากเกินจำเป็น ก็จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะอ้วน มีน้ำตาลในเลือดสูง มีก้อนไขมันสะสมในบางตำแหน่งของร่างกาย และทำให้เกิดโรคเบาหวานได้
โรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) มากเกินไป ส่งผลทำให้ร่างกายเกิดความบกพร่องและปกติหลายส่วน รวมถึงทำให้ปริมาณน้ำตาลที่สะสมในร่างกายสูงขึ้น จนทำให้เกิดโรคเบาหวานได้
โรคทางพันธุกรรมบางชนิด ซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ เช่น โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
ยารักษาโรคบางชนิด ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินได้ เช่น ยาทางจิตเวช ยากลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) วิตามินบีสาม ยาเพนทามิดีน (Pentamidine)
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานสามารถส่งผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้ หากไม่ประคองอาการของโรคให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ เช่น
โรคความดันโลหิตสูง
โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหัวใจ
โรคไตเรื้อรัง
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ
ภาวะเส้นเลือดอุดตันจนอวัยวะขาดเลือดไปเลี้ยง หรือเกิดการติดเชื้อจนต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้ง
อัมพฤกษ์
อัมพาต
สมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอย
โรคนอนไม่หลับ
โรคซึมเศร้า
โรควิตกกังวล
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ภาวะเบาหวานขึ้นตา ส่งผลให้อาจตาบอดได้
เป็นโรคต้อหิน หรือโรคต้อกระจก
ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
ภาวะครรภ์เป็นพิษ
ทารกตัวโตกว่าปกติ
คลอดบุตรก่อนกำหนด
บาดแผลหายช้า
อาการปวดแสบร้อนในช่วงกลางคืน
อาการชาตามปลายมือและเท้า
โรคเบาหวานวินิจฉัยอย่างไร?
เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าตนเองมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรไปตรวจคัดกรองโรคเบาหวานกับแพทย์ทันที โดยการวินิจฉัยโรคเบาหวานนิยมใช้วิธี “ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด” เป็นหลัก จากนั้นแพทย์จะแจ้งผลระดับน้ำตาลที่เสี่ยงบ่งชี้เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งวิธีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก็จะแบ่งได้หลายวิธี เช่น
1. วิธีตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting Plasma Glucode Test)
ผู้เข้ารับบริการจะต้องงดอาหารในช่วงเย็นก่อนวันตรวจเลือดประมาณ 8-12 ชั่วโมง โดยดื่มได้เพียงน้ำเปล่าเท่านั้น จากนั้นเดินทางไปเจาะเก็บตัวอย่างเลือดกับแพทย์ในตอนเช้า ในส่วนของผลตรวจจะมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดอยู่ที่ประมาณ 70-99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือเป็นเกณฑ์ปกติและไม่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดอยู่ที่ประมาณ 10-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดอยู่ที่ประมาณ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดซ้ำในวันถัดไปหรือสัปดาห์ถัดไปเพื่อยืนยันผลตรวจอีกครั้ง
เช็กราคาตรวจเบาหวาน
2. วิธีตรวจระดับน้ำตาลที่สะสมในฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง (Hemoglobin A1c)
เป็นวิธีเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อดูค่าเฉลี่ยน้ำตาลที่สะสมอยู่ในกระแสเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อดูประสิทธิภาพในการคุมระดับน้ำตาลของร่างกาย โดยผู้เข้ารับบริการไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืองดอาหารก่อนตรวจ สำหรับเกณฑ์ผลตรวจเลือด มีดังต่อไปนี้
ระดับน้ำตาลในฮีโมโกลบินน้อยกว่า 5.7% ถือเป็นเกณฑ์ปกติและไม่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลในฮีโมโกลบินอยู่ที่ประมาณ 5.7-6.4% ถือเป็นเกณฑ์ความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลในฮีโมโกลบินอยู่ที่ประมาณ 6.5% ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
3. วิธีตรวจแบบ 2 ขั้นตอน (Two Step Screening)
เป็นวิธีตรวจคัดกรองโรคเบาหวานผ่านการกินหรือดื่มน้ำตาลกลูโคสเข้าร่างกาย จากนั้นเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือดอีกครั้ง นิยมใช้ตรวจในกลุ่มหญิงมีครรภ์ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สำหรับวิธีตรวจทั้ง 2 ขั้นตอนได้แก่
วิธีตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบกินน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม (Glucose Challenge Test: GCT) ผู้เข้ารับบริการต้องดื่มน้ำที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคสหรือกินก้อนน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม โดยไม่ต้องอดอาหารก่อน แล้วแพทย์จะเจาะเก็บตัวอย่างเลือด หากผลตรวจพบระดับน้ำตาลกลูโคสมากกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน แพทย์มักจะแนะนำให้รับการตรวจในข้อถัดไป
วิธีตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบกินน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT) ผู้เข้ารับบริการจะต้องอดอาหารก่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หลังจากนั้นแพทย์จะเจาะเก็บตัวอย่างเลือดก่อน 1 ครั้ง แล้วให้ผู้เข้ารับบริการดื่มน้ำหรือก้อนน้ำตาลที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม แล้วเจาะเก็บตัวอย่างเลือดอีกครั้งในชั่วโมงที่ 1, 2 และ 3 หลังดื่มน้ำหรือกินก้อนน้ำตาล สำหรับเกณฑ์ผลตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน ได้แก่
ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนดื่มหรือกินน้ำตาลกลูโคส ควรน้อยกว่า 95 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา 1 ชั่วโมงหลังดื่มหรือกินก้อนน้ำตาล ควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา 2 ชั่วโมงหลังดื่มหรือกินก้อนน้ำตาล ควรน้อยกว่า 155 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา 3 ชั่วโมงหลังดื่มหรือกินก้อนน้ำตาล ควรน้อยกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
เป็นโรคเบาหวานควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
ก่อนอื่นผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องเข้าใจก่อนว่า “โรคเบาหวานเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดไม่ได้” แต่สามารถประคองให้อาการของโรคอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ผ่านการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น
ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด งดกินจุกจิก โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาล แป้ง และไขมันสูง แต่ยังต้องกินอาหารในครบ 5 หมู่อย่างครบถ้วนและเพียงพอต่อร่างกาย และควรหมั่นกะปริมาณกับสัดส่วนของอาหารที่กินแต่ละมื้ออย่างเหมาะสม เช่น ปริมาณคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน
หมั่นออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายได้มีการเผาผลาญไขมันและนำน้ำตาลที่สะสมในร่างกายออกมาใช้ แต่ทั้งนี้ให้สอบถามแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมด้วย เนื่องจากการออกกำลังกายที่หนักเกินไป อาจไปเสริมให้ระดับ
น้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดสูงเกินไปได้
งดการสูบบุหรี่
งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือบริโภคแต่น้อยที่สุดตามคำแนะนำของแพทย์
ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตอยู่เสมอ และหากมีปัญหาความดันโลหิต ต้องกินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้อย่างเคร่งครัด
หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ
ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลกับร่างกาย หรือหากพบว่ามีแผลที่ส่วนใดแม้เพียงขนาดเล็ก ให้รีบรักษา และหากพบว่าแผลยังไม่สมานตัวอย่างที่ควรจะเป็น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ระวังสุขภาพของเท้าให้ดี เช่น ใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่ใส่สบาย อย่าให้เล็บไปบาดเท้าจนเกิดแผล ดูแลความสะอาดของเท้าให้ดี เนื่องจากเท้าเป็นตำแหน่งที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีปัญหาเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมและเลือดไปเลี้ยงได้ไม่เพียงพอเนื่องจากหลอดเลือดแดงแข็ง จึงมักทำให้เท้ามีแผลได้ง่าย หรือมักมีอาการเท้าเย็น เป็นตะคริว ปวดเท้าง่ายเวลาก้าวเดิน
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ เช่น วัคซีนปอดอักเสบ วัคซีนไข้หวัดใหญ่
กินยาหรือฉีดยาคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
ตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำทุกปี หรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
โรคเบาหวานป้องกันอย่างไร?
จากข้อมูลข้างต้น โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดได้จากหลายปัจจัยมาก บางปัจจัยก็ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยจากโรคประจำตัวอื่นๆ การตั้งครรภ์ หรือยาประจำตัวที่แพทย์สั่งจ่าย
แต่ในส่วนของปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ในส่วนนี้สามารถป้องกันได้ ผ่านการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ประมาณ 3-5 วันต่อสัปดาห์
หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสหวาน มีน้ำตาลหรือไขมันสูงเป็นประจำ
ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากพบว่าน้ำหนักเกินเกณฑ์ ให้พยายามลดน้ำหนักให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
พักผ่อนให้เพียงพอในทุกคืน เนื่องจากร่างกายที่อ่อนล้าสามารถมีผลกระทบต่อการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลในร่างกายได้
หมั่นไปตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ
ในกรณีตั้งครรภ์ ควรรักษาสุขภาพขณะตั้งครรภ์อย่างระมัดระวัง และหมั่นไปพบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์พร้อมรับคำแนะนำในการรักษาสุขภาพอยู่เสมอ เพื่อป้องกันโอกาสเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หลังคลอดบุตร
เช็กราคาตรวจเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้คุณภาพชีวิตของใครหลายคนแย่ลงได้ ทางที่ดีเพื่อป้องกันตั้งแต่ก่อนจะสาย เราควรระมัดระวังเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินของตนเองให้ดี
การกินอาหารรสหวานไม่ใช่เรื่องผิด แถมยังสามารถคลายเครียดได้ดีอีกด้วย แต่ต้องรับในปริมาณที่พอดีและไม่มากเกินไป เพื่อให้ร่างกายสามารถระบายนำน้ำตาลที่สะสมอยู่ไปใช้ต่อได้จนหมดและไม่เหลือสะสมคงไว้มากจนกเกินไป
หรือหากคุณมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานจากพันธุกรรม โรคประจำตัว หรือยาบางชนิด ก็ควรเดินทางไปตรวจสุขภาพและปรึกษาแพทย์อยู่เสมอ เพื่อจะได้วางแผนดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานให้ได้มากที่สุด