ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจสุขภาพ: หนังหุ้มปลายองคชาตตีบ (Phimosis)  (อ่าน 80 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 405
  • รับโปรโมทเว็บ, บริการโพสประกาศ
    • ดูรายละเอียด
ตรวจสุขภาพ: หนังหุ้มปลายองคชาตตีบ (Phimosis)
« เมื่อ: วันที่ 9 กรกฎาคม 2024, 05:51:00 น. »
ตรวจสุขภาพ: หนังหุ้มปลายองคชาตตีบ (Phimosis)

ปกติหนังหุ้มปลายองคชาตของผู้ชายจะรูดเปิดจากปลายองคชาตขึ้นไปจนสุด คือพ้นจากส่วนของร่องหัวองคชาต (coronal sulcus) ได้ ผู้ชายบางคนอาจมีหนังหุ้มปลายองคชาตที่รัดตัว จนไม่สามารถรูดให้เปิดขึ้นได้ดังปกติ เรียกว่า หนังหุ้มปลายองคชาตตีบ (phimosis)

หนังหุ้มปลายองคชาตตีบอาจเป็นมากน้อยได้หลายลักษณะ ที่เป็นน้อยสุดคือรูดหนังหุ้มปลายขึ้นไปได้เกินกึ่งกลางของส่วนหัวองคชาต ที่เป็นมากสุดคือรูดหนังหุ้มปลายองคชาตแล้วไม่สามารถมองเห็นรูเปิดท่อปัสสาวะได้

โดยปกติทารกแรกเกิดจะยังคงมีหนังหุ้มปลายองคชาตปิดอยู่ เมื่ออายุมากขึ้นหนังหุ้มปลายองคชาตจะค่อย ๆ เปิดออกด้วยกลไกของการแข็งตัวตามกลไกธรรมชาติของร่างกายและขี้เปียก (smegma) จะคงเหลือหนังหุ้มปลายองคชาตปิดอยู่ประมาณร้อยละ 1 ที่อายุครบ 16 มีหนังหุ้มปลายองคชาตปิดและสามารถรูดจนสุด คือพ้นร่องหัวองคชาต (coronal sulcus)


สาเหตุ

เราสามารถแบ่งหนังหุ้มปลายองคชาตตีบออกเป็นชนิดปฐมภูมิ และทุติยภูมิ

1. ชนิดปฐมภูมิ เป็นความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด โดยไม่ทราบสาเหตุ

โดยปกติทารกแรกเกิดเกือบทุกคนจะยังคงมีหนังหุ้มปลายองคชาตปิดอยู่ ต่อมาหนังหุ้มปลายองคชาตจะค่อย ๆ เปิดออกด้วยกลไกของการแข็งตัวตามธรรมชาติของร่างกาย และหนังหุ้มปลายจะเปิดได้เต็มที่ราวครึ่งหนึ่งของเด็กที่มีอายุ 10 ปี ส่วนใหญ่จะเปิดได้เต็มที่เมื่ออายุมากกว่า 16 ปี

เด็กที่เป็นหนังหุ้มปลายองคชาตตีบจะมีหนังหุ้มปลายตีบกว่าเด็กปกติ ซึ่งจะมีอาการตั้งแต่แรกเกิด และมักตรวจพบเมื่ออายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป แต่ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นและปรึกษาแพทย์เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น ยกเว้นในเด็กเล็กที่หนังหุ้มปลายตีบอย่างมากและมีอาการผิดปกติปรากฏชัดเจน

2. ชนิดทุติยภูมิ เป็นภาวะผิดปกติที่ไม่ได้เป็นมาโดยกำเนิด มักพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ อาจเกิดจากโรคผิวหนังอักเสบบางชนิด (เช่น โรคเกล็ดเงิน, Lichen planus ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเอง เป็นต้น) หนังหุ้มปลายองคชาตอักเสบเรื้อรัง (chronic posthitis) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เช่น เริม หนองใน ซิฟิลิส) การผ่าตัด การฉายรังสี เป็นต้น เกิดเป็นแผลเป็นดึงรั้ง ทำให้หนังหุ้มปลายเปิดไม่ได้

ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ เกิดภาวะปลายองคชาตอักเสบและติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป


อาการ

ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการแสดง อาการแสดงมักเกิดในผู้ที่เป็นมากหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาทิ

    เด็กเล็ก อาจแสดงท่าทางของการเบ่งปัสสาวะ ร้องไห้เวลาปัสสาวะ ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือหนังหุ้มปลายองคชาตโป่งพองคล้ายลูกโป่งขณะปัสสาวะ บางรายอาจมีหนังหุ้มปลายองคชาตอักเสบ (posthitis) บวมแดง มีหนอง หรือมีอาการของโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ (เช่น ไข้ ซึม คลื่นไส้ อาเจียน เบื่อนมและอาหาร ปัสสาวะขุ่น)
    เด็กโตและผู้ใหญ่ อาจมีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออก หรือถ่ายลำบาก รู้สึกเจ็บปวดเวลาปัสสาวะ หรืออาจมีอาการเจ็บปวดเวลาองคชาตแข็งตัว บางรายอาจมีหนังหุ้มปลายองคชาตอักเสบ (posthitis) บวมแดง มีหนอง บางรายอาจมีภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตร่นรัด (paraphimosis) แทรกซ้อน กล่าวคือ หนังหุ้มปลายองคชาตเกิดการรัดรอบร่องหัวองคชาต มีลักษณะบวมแดง มีอาการเจ็บปวด ปัสสาวะลำบาก และปลายองคชาตอาจกลายเป็นสีม่วงคล้ำ


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก

อาจเกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ) หนังหุ้มปลายองคชาตอักเสบ (posthitis) ปลายองคชาตอักเสบ (balanitis)

ผู้ที่มีหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งองคชาต เนื่องจากมีการระคายเคืองของขี้เปียก (smegma)

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง คือ ภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตร่นรัด (paraphimosis) เนื่องจากหนังหุ้มปลายองคชาตตีบในระดับหนึ่ง รูดหนังหุ้มปลายองคชาตเปิดขึ้นแล้วไม่สามารถรูดกลับมาได้ ทำให้เกิดการบวมของหนังหุ้มปลายที่ติดคารัดรอบร่องหัวองคชาต หากเป็นมากขึ้นอาจเกิดการกดหลอดเลือดแดง ทำให้ปลายองคชาตขาดเลือดจนเนื้อตายได้ ซึ่งจัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องไปโรงพยาบาลโดยด่วน


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการตรวจพบหนังหุ้มปลายองคชาตเปิดขึ้นไม่ได้ปกติ

การตรวจร่างกายจะพบว่ามีหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ และในเด็กเล็กอาจตรวจพบหนังหุ้มปลายองคชาตแคบมาก บางรายเล็กเท่ารูเข็ม

อาจตรวจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น หนังหุ้มปลายองคชาตอักเสบ บวมแดง มีหนอง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตร่นรัด

บางรายแพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ นำหนองที่หนังหุ้มปลายไปตรวจหาเชื้อ เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาตามลักษณะและความรุนแรงของโรค

ในรายที่เป็นไม่มากและไม่มีอาการอะไร ก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง (เช่น สอนพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีรูดเปิดหนังหุ้มปลายองคชาตให้เด็กทีละน้อยเป็นประจำทุกวัน บางกรณีอาจแนะนำให้ใช้สเตียรอยด์ชนิดครีมทาช่วยให้หนังหุ้มปลายนุ่มและรูดเปิดได้ง่ายขึ้น) และนัดติดตามดูอาการต่อไป สำหรับเด็กเล็ก ภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบอาจหายไปได้เองเมื่ออายุมากขึ้นหรือเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่ม

ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะให้การรักษาตามภาวะที่พบ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ, ให้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน หรือยาต้านเชื้อชนิดครีมทา รักษาหนังหุ้มปลายองคชาตอักเสบ, ทำการแก้ไขภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตร่นรัด ซึ่งมีอยู่หลายวิธีรวมทั้งการผ่าตัดขริบปลาย เป็นต้น

ในรายที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวานร่วมด้วย ก็จะให้ยารักษาเบาหวาน

ในรายที่เป็นมาก มีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนบ่อย หรือรุนแรง แพทย์จะรักษาโดยการตัดหนังหุ้มปลายออก เรียกว่า การขริบปลาย (circumcision)

ในบางราย แพทย์อาจทำการผ่าตัดแยกหนังหุ้มปลายองคชาตออกจากปลายองคชาตแทนการขริบปลาย วิธีนี้ช่วยรักษาหนังหุ้มปลายไว้ แต่มีโอกาสเกิดภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบซ้ำได้
 

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น ถ่ายปัสสาวะไม่ออก ถ่ายปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่ง หนังหุ้มปลายองคชาตโป่งพองคล้ายลูกโป่งขณะปัสสาวะ มีหนังหุ้มปลายองคชาตอักเสบ มีอาการเจ็บปวดเวลาองคชาตแข็งตัว หรือหนังหุ้มปลายองคชาตเปิดขึ้นไม่เท่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ในรายที่มีการรักษาด้วยการขริบปลาย ต่อมาพบว่ามีอาการติดเชื้อเป็นหนองที่ปลายองคชาต หรือรอยแผลที่ขริบมีการอักเสบหรือเลือดออก หรือมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. สำหรับเด็กที่มีหนังหุ้มปลายองคชาตตีบชนิดปฐมภูมิโดยกำเนิด ยังไม่มีวิธีป้องกัน ควรหาทางป้องกันภาวะแทรกซ้อนด้วยการรีบไปปรึกษาแพทย์เมื่อสงสัยว่าจะมีภาวะนี้ และให้การดูแลรักษาตามที่แพทย์แนะนำ

2. สำหรับหนังหุ้มปลายองคชาตตีบชนิดทุติยภูมิซึ่งพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ ซึ่งมักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในบริเวณปลายองคชาต อาจป้องกันด้วยการรักษาโรคติดเชื้อนั้นให้ได้ผล ดังนี้

    ดูแลสุขอนามัยบริเวณปลายองคชาต ด้วยการทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นทุกวันในระหว่างอาบน้ำ โดยดึงหนังหุ้มปลายองคชาตให้เปิดออกอย่างช้า ๆ และล้างทำความสะอาดผิวหนังข้างใต้ เสร็จแล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้งทุกครั้ง แล้วรูดหนังหุ้มปลายให้กลับมาหุ้มปลายองคชาตตามเดิม และเพื่อป้องกันการระคายเคืองควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีน้ำหอมหรือผสมสารเคมีในการทำความสะอาด และหลีกเลี่ยงการใช้แป้งฝุ่น และสารระงับกลิ่นใส่ที่ปลายองคชาต
    ปัองกันไม่ให้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    เมื่อสงสัยมีการอักเสบหรือมีแผลที่ปลายองคชาตและหนังหุ้มปลายองคชาต ควรรีบปรึกษาแพทย์ และดูแลรักษาให้หายขาด

ข้อแนะนำ

ปัจจุบัน ไม่แนะนำให้ทำการขริบปลายแก่เด็กทุกคน โดยที่ไม่มีภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ และถึงแม้เด็กมีหนังหุ้มปลายตีบไม่รุนแรง (ซึ่งไม่มีอาการผิดปกติ) ก็ไม่จำเป็นต้องทำการขริบปลาย เพราะภาวะนี้มักจะหายได้เองเมื่ออายุมากขึ้น

แพทย์จะทำการขริบปลาย เมื่อพบว่ามีภาวะหนังหุ้มปลายตีบอย่างมาก มีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนบ่อย หรือรุนแรง