ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการโลหิตเป็นพิษ/ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia/Bacteremia)  (อ่าน 83 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 498
  • รับโปรโมทเว็บ, บริการโพสประกาศ
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการโลหิตเป็นพิษ/ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia/Bacteremia)

โลหิตเป็นพิษ หมายถึง ภาวะที่เชื้อหรือพิษของแบคทีเรียแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดทั่วร่างกาย ถือเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงมาก อาจทำให้เกิดภาวะช็อกถึงตายได้


สาเหตุ

มักเป็นผลแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ได้ให้ยารักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก หรือพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือกินยาสเตียรอยด์นาน ๆ

โรคติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษที่พบได้บ่อย เช่น โรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ ปอดอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ปีกมดลูกหรือเยื่อบุมดลูกอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ ไทฟอยด์ เยื่อบุหัวใจอักเสบเรื้อรัง บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกรุนแรง โรคติดเชื้อแบคทีเรียของผิวหนัง เป็นต้น

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น อาจจับไข้ตลอดเวลาหรือไข้สูงเป็นพัก ๆ ซึม กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร ซีด เหลือง (ดีซ่าน) อาจมีจุดแดงจ้ำเขียวขึ้นตามตัว มีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น

ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเกิดภาวะช็อก คือ ความดันตก หายใจหอบ และปัสสาวะออกน้อย

ในที่สุดจะเกิดภาวะไตวาย และตายได้


ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะไตวาย ช็อก ภาวะเลือดจับเป็นลิ่มทั่วร่างกาย (DIC)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบไข้ ซีด เหลือง จุดแดงจ้ำเขียวตามตัว อาจคลำได้ตับโต ม้ามโต

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ นำเลือดหรือปัสสาวะไปเพาะเชื้อ และตรวจพิเศษอื่น ๆ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ฉีดเพนิซิลลินขนาดสูง ๆ หรือฉีดเจนตาไมซิน (gentamicin) คาร์เบนิซิลลิน (carbenicillin) เซฟาโลสปอริน (cephalosporin) หรือยาปฏิชีวนะอื่น ๆ ตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ

นอกจากนี้จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้น้ำเกลือ ให้เลือด ทำการล้างไต (dialysis) เป็นต้น


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้สูงร่วมกับอาการหนาวสั่น ซึม กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร ซีด ตาเหลืองตัวเหลือง มีจุดแดงจ้ำเขียวขึ้นตามตัว หรือมีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ (เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น) หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโลหิตเป็นพิษ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    หลังออกจากโรงพยาบาล มีอาการไข้กำเริบ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวล
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

เมื่อเป็นโรคติดเชื้อต่าง ๆ โดยมักมีไข้ร่วมกับอาการอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ จนหายขาด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวาน มะเร็ง หรือกินยาสเตียรอยด์นาน ๆ

ข้อแนะนำ

ถ้าพบผู้ที่เป็นไข้เรื้อรัง (นานกว่า 1-2 สัปดาห์) หรือเป็นโรคติดเชื้อซึ่งได้รับยาปฏิชีวนะ 3-4 วันแล้วไข้ไม่ลด ควรกลับไปพบแพทย์ที่ให้การรักษาโดยเร็ว อย่าปล่อยจนกระทั่งกลายเป็นโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน ซึ่งยากแก่การรักษา และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง