“บ้านไม่พร้อมห้ามลงชื่อรับบ้านเด็ดขาด" ประโยคที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจถ้าไม่อยากเสียใจภายหลัง โดยเฉพาะก่อนจะจรดปากกาเซ็นรับบ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการโอนบ้านและที่ดินต่อไป
การสำรวจตรวจตราบ้านเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรให้เวลาทั้งวัน โดยควรหาวันว่างนัดตรวจรับตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อให้การตรวจสอบมีแสงสว่างเพียงพอและสามารถใช้เวลาได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการชวนเพื่อนไปช่วยจดบันทึก ถ่ายรูป และช่วยกันสำรวจหาข้อบกพร่องให้ละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้น
เตรียมอุปกรณ์ตรวจรับบ้าน
หลังจากนัดวันตรวจรับบ้านเรียบร้อยแล้ว ลองสอบถามทางโครงการเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ต้องการใช้สำหรับการตรวจรับ ซึ่งหากอุปกรณ์ใดที่โครงการไม่มี เราจะได้สามารถหาซื้อและนำไปในวันดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน
ตรวจสอบ 9 ระบบสำคัญของบ้านให้ดี ก่อนตัดสินใจเซ็นรับ
สำหรับอุปกรณ์ที่ควรนำไปด้วยตามรายการ ดังนี้
1. กระดาษจดข้อมูล
2. ดินสอหรือปากกา
3. ผังแบบแปลนบ้าน
4. เทปพันสายไฟช่วยให้มองเห็นตำแหน่งจุดบกพร่องชัดเจน ซึ่งสามารถลอกออกได้โดยไม่ทำความเสียหายให้พื้นผิวหรือผนังในภายหลัง
5. คัตเตอร์หรือกรรไกรเพื่อใช้ตัดเทปพันสายไฟ
6. ถังน้ำขนาดเล็กสำหรับใช้ตรวจสอบและใส่อุปกรณ์ที่นำไปตรวจ
7. ไฟฉาย เพื่อสำรวจในตำแหน่งที่ไม่มีแสงสว่าง เช่น ฝ้าเพดาน ช่องท่อ
8. ไม้บรรทัดยาวประมาณ 60 เซนติเมตร
9. อุปกรณ์ทดสอบระบบไฟฟ้า เช่น สายชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ
10. ลูกแก้วในการตรวจสอบทางลาดเอียง
11. เศษผ้า ใช้ตรวจสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำ
12. ขนมปัง สำหรับตรวจสอบระบบชักโครก
ขั้นตอนตรวจรับบ้าน 9 ระบบสำคัญ
ในการตรวจสอบบ้านควรเดินสำรวจไปในแต่ละพื้นที่ ไม่ย้อนกลับไปมา โดยให้เริ่มที่หน้าบ้านก่อนจึงเดินไปรอบบ้านในทิศทางเดียว หลังจากนั้นจึงสำรวจทีละห้องภายในบ้าน พร้อมจดบันทึกและถ่ายภาพตำแหน่งที่ต้องการให้โครงการแก้ไข ซึ่งควรเรียงตามลำดับให้ตรงกับรายการที่จดไว้ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบการแก้ไขในภายหลัง ซึ่งในการตรวจสอบบ้านส่วนใหญ่มักแบ่งเป็น 9 ระบบสำคัญที่ต้องตรวจตรา ดังนี้
ตรวจสอบ 9 ระบบสำคัญของบ้านให้ดี ก่อนตัดสินใจเซ็นรับ
1. พื้นที่นอกบ้าน
ได้แก่ รั้วและประตูที่ต้องเปิดปิดสะดวก ไม่ตกราง การทาสีที่สม่ำเสมอ ไม่มีร่องรอยสนิมเกาะ กลอนประตูสามารถลงกลอนได้อย่างสะดวก รั้วบ้านไม่เอียง ไม่มีรอยร้าว ดินถมรอบบ้านไม่มีหลุมบ่อหรือเศษวัสดุก่อสร้างตกค้าง ระบบการระบายน้ำภายนอกที่น้ำควรมีทิศทางออกด้านนอกไม่ไหลกลับเข้าตัวบ้าน
โดยตรวจสอบรางระบายน้ำฝนได้ด้วยการใช้ถังน้ำที่เตรียมมาบรรจุน้ำราดลงพื้นที่ต่างๆ รอบบ้าน รวมถึงตรวจสอบสิ่งที่ได้รับให้ตรงกับสัญญา เช่น การจัดสวน ปลูกต้นไม้ และปูหญ้า
2. โครงสร้าง
เราควรตรวจสอบทั้งความแข็งแรงและคุณภาพของโครงสร้างให้สามารถรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดีในระยะยาว โดยสำรวจทั้งรอยร้าว รูปร่างลักษณะของโครงสร้างที่ไม่งอ โค้ง เช่น เสา คาน รวมถึงการตรวจระดับพื้น ด้วยการกลิ้งลูกแก้วบนพื้นห้อง
หากกลิ้งไปมาไร้ระเบียบหรือกลิ้งอย่างรวดเร็วไปที่มุมใดมุมหนึ่งแสดงว่าพื้นห้องมีปัญหาความลาดเอียงหรือพื้นไม่เสมอกัน พร้อมใช้ไฟฉายสำรวจและบันไดปีนขึ้นไปเหนือฝ้าเพดาน เพื่อตรวจสอบโครงฝ้าเพดาน
3. หลังคา
ถ้าไม่สามารถตรวจสอบปัญหาน้ำรั่วได้ ด้วยการฉีดน้ำใส่หลังคา เราสามารถสังเกตรอยน้ำรั่วได้ภายในบ้าน ซึ่งน้ำฝนอาจจะทิ้งร่องรอยคราบน้ำไว้ เช่น รอยด่างของสีที่ทาฝ้า ขอบฝ้าเพดาน โดยอาจจะใช้บันไดปีนขึ้นเหนือฝ้าเพดานชั้นบน เพื่อดูผิวหลังคาจากด้านในพร้อมกับตรวจสอบโครงสร้างหลังคาได้ รวมถึงการสำรวจกระเบื้องหลังคาที่มีตะปูยึดติดไว้อย่างแข็งแรง ฝ้าเพดานและสีทาฝ้าภายนอกเรียบร้อยสวยงาม
4. พื้น
การปูพื้นที่ราบเรียบสม่ำเสมอ และไม่แอ่น โดยสามารถใช้ลูกแก้วหรือถังน้ำทดสอบทิศทางการเคลื่อนตัวของลูกแก้วหรือน้ำที่ไม่ส่งสัญญาณผิดปกติ รวมถึงบันไดที่แข็งแรงทนทาน ไม่สั่นหรือมีเสียงขณะใช้งาน ซึ่งราวบันไดควรมีความสูงอย่างน้อย 90 เซนติเมตรและติดตั้งไว้อย่างแข็งแรง
5. ผนัง
เนื่องจากเป็นส่วนที่มีพื้นที่มากที่สุดในบ้าน ทำให้ใช้เวลาตรวจสอบนานที่สุด โดยควรใช้ดิ่งตั้งฉากตรวจสอบการก่อผนัง โดยใช้ไม้บรรทัดยาวทาบลงบนผิวฉาบปูน พร้อมพิจารณาคุณภาพของผิวปูนฉาบที่เรียบสม่ำเสมอ และไม่มีร่องรอยแตกร้าวจากโครงสร้าง รวมถึงการทาสีหรือผิวเคลือบบนพื้นต่างๆ และฝ้าที่แนบสนิทกับผนัง ได้ระดับเท่ากันทั่วห้อง
6. ฝ้าเพดาน
การสำรวจควรดูให้ทั่วทั้งบริเวณชั้นล่าง ชั้นบน และฝ้าเพดานภายนอก ซึ่งควรดูให้ทั่่วบริเวณบ้าน พร้อมกับการตรวจสอบระบบไฟฟ้าแสงสว่างด้วย ซึ่งเพดานที่ดีต้องเรียบได้ระดับเท่ากันทั้งห้อง และไม่เห็นร่องรอยยาแนวหรือไม่ปูดบวมออกมา รวมถึงการทาสีที่ใช้หลักเดียวกับการตรวจผนัง
7. ประตู หน้าต่าง ช่องระบายอากาศต่าง ๆ
เราสามารถตรวจสอบ โดยใช้การมองในระยะไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในการสำรวจความผิดปกติ ไม่บิดเบี้ยวหรือเอียงไปทางใดทางหนึ่ง รวมถึงลองทดสอบการเปิดปิดประตูหลายๆ หรือระบบบานเลื่อนไม่ตกราง และลูกบิด ตัวล็อค กลอน ให้ทุกตัวสามารถทำงานได้เป็นปกติ ตลอดจนวงกบที่ต้องแนบสนิทกับผนัง และเรียบร้อยไม่มีรอบแตกบิ่นเสียหาย
8. ระบบไฟฟ้า
ลองทดสอบเปิดไฟทุกดวง ทั้งหน้าบ้าน ไฟสนาม จนถึงภายในบ้าน โดยทิ้งไว้ระยะหนึ่งก่อนจึงปิดและเปิดใหม่ประมาณ3 ครั้ง รวมถึงการตรวจสอบปลั๊กไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ และนำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เตรียมมา เช่น สายชาร์จแบต นำมาทดสอบกระแสไฟภายในบ้าน
9. ระบบน้ำ
หากโครงการให้ปั๊มน้ำ เราก็สามารถตรวจสอบปั๊มน้ำด้วย โดยการเปิดก๊อกน้ำหรืออ่างอาบน้ำ ฝักบัว ให้สุดทุกตัว เพื่อสังเกตการไหลของน้ำ รวมถึงการลองปิดก๊อกน้ำและเปิดใหม่ประมาณ2-3 ครั้ง เพื่อพิจารณาการหมุนของก๊อกน้ำ และไม่ให้มีน้ำหยดออกมาบริเวณท่อหรือข้อต่อ
นอกจากนั้น ในกรณีบ้านที่มีการติดตั้งมอเตอร์แล้วสามารถตรวจสอบน้ำรั่วได้ง่ายขึ้น ด้วยการดูมิเตอร์น้ำ หากยังหมุนอยู่ในช่วงที่ไม่มีใครใช้น้ำ แสดงว่าเราอาจจะมีปัญหาน้ำรั่ว รวมถึงการตรวจสอบระบบน้ำทิ้งและระบบระบายน้ำ เช่น อ่างล้ามมือ อ่างอาบน้ำ อ่างล้างชาม รูระบายหลังบ้าน รูระบายระเบียง และรูระบายน้ำทิ้งในห้องน้ำ เป็นต้น
อย่าลืมว่า..อำนาจในการสั่งการหรือคำร้องให้จัดการแก้ไขซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนขึ้นอยู่กับการเซ็นชื่อเพียงครั้งเดียว ดังนั้น อย่าหลงเชื่อในคารมยินยอมเซ็นรับมอบบ้าน ทั้งที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข
ขายบ้านโคราช: ตรวจสอบ 9 ระบบสำคัญของบ้านให้ดี ก่อนตัดสินใจเซ็นรับ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://homes-realestate.com/